วันอาทิตย์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2550

เพลงชาติไทย พ.ศ.๒๔๗๙




ทำนอง : พระเจนดุริยางค์

คำร้อง : นายพันเอกหลวง สารานุประพันธ์
(นวล ปาจิณพยัคฆ์)



แผ่นดินสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง
ไทยเข้าครองตั้งประเทศเขตแดนสง่า
สืบเผ่าไทยดึกดำบรรพ์โบราณลงมา
รวมรักษาสามัคคีทวีไทย
บางสมัยศัตรูจู่โจมตี
ไทยพลีชีพร่วมรวมรุกไล่
เข้าลุยเลือดหมายมุ่งผดุงผะไท
สยามสมัยบุราณรอดตลอดมา
อันดินสยามคือว่าเนื้อของเชื้อไทย
น้ำรินไหลคือว่าเลือดของเชื้อข้า
เอกราชคือเจดีย์ที่เราบูชา
เราจะสามัคคีร่วมใจ
รักษาชาติประเทศเอกราชจงดี
ใครย่ำยีเราจะไม่ละให้
เอาเลือดล้างให้สิ้นแผ่นดินของไทย
สถาปนาสยามให้เทิดไทยไชโย...............


ความคิดเรื่องเพลงประจำชาติ เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ โดยได้รับ อิทธิพลตะวันตก ซึ่งมีเพลง ประจำชาติมาก่อน โดยเฉพาะอิทธิพลจากประเทศอังกฤษ โดยนายทหารอังกฤษ ๒ คน ซึ่งเข้ามาเป็นครูฝึกทหารเกณฑ์ ในวังหลวงและวังหน้า ในปลายรัชกาลที่ ๔ ปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ชื่อร้อยเอกอิมเปย์ (Impey) และร้อยเอกน๊อกซ์ (Thomas G. Knox) นายทหารอังกฤษทั้ง ๒ นายนี้ ได้ใช้เพลง กอดเสฟเดอะควีน (God Save the Queen) เป็นเพลงฝึกสำหรับทหารแตร และอังกฤษได้ใช้เพลงกอดเสฟเดอะควีนนี้ เป็นเพลงประจำชาติในการฝึกทหารของไทยสมัยนั้น ใช้แบบอย่างของประเทศอังกฤษหมด ดังนั้นเพลง กอดเสฟเดอะควีน (God Save the Queen) จึงใช้เป็นเพลงเกียรติยศ ถวายความเคารพ ต่อพระมหากษัตริย์ ใช้สำหรับกองทหารไทยในระหว่างปี พ.ศ. ๒๓๙๕ ถึง ๒๔๑๔ เรียกกันว่า "เพลงสรรเสริญพระบารมีอังกฤษ"
พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ได้ประพันธ์เนื้อร้องขึ้นมาใหม่ โดยใช้เนื้อเพลงกอดเสฟเดอะควีนเดิม และตั้งชื่อเพลงขึ้นใหม่ว่า "จอมราชจงเจริญ" นับเป็นเพลงชาติฉบับแรกของประเทศสยาม ในปี พ.ศ. ๒๔๑๔ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาส เมืองสิงคโปร์ ในขณะนั้นสิงคโปร์ยังเป็นเมืองขึ้นของประเทศอังกฤษอยู่ กองทหารดุริยางค์ สิงคโปร์บรรเลงเพลงกอดเสฟเดอะควีน เพื่อถวายความเคารพ
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงตระหนักดีว่าประเทศ มีความจำเป็นจะต้องมีเพลงชาติที่เป็นของตัวเองขึ้น เพื่อแสดงถึงความเป็นเอกราชของชาติ
ครั้นเมื่อทรงเสด็จกลับถึงพระนคร จึงได้โปรดให้ตั้งคณะครูดนตรีไทยขึ้น เพื่อทรงปรึกษา หาเพลงชาติที่มีความเป็นไทย มาใช้แทนเพลงกอดเสฟเดอะควีน คณะครูดนตรีไทย ได้เลือก เพลงทรงพระสุบัน หรือเรียกอีกอย่างว่า เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งเป็นพระราชนิพนธ์ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ โดยนำมาเรียบเรียงใหม่ ให้มีความเป็น สากลขึ้นโดย เฮวุดเซน (Heutsen) นับเป็น เพลงชาติไทยฉบับที่สอง ใช้บรรเลงในระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑ สำหรับ เพลงชาติไทยฉบับที่สาม คือ เพลงสรรเสริญพระบารมี (ฉบับปัจจุบัน)ประพันธ์โดย ปโยตร์ สชูโรฟสกี้ (Pyotr Schurovsky) นักประพันธ์ชาวรัสเซีย คำร้องเป็นพระนิพนธ์ของ สมเด็จฯ กรมพระนริศรานุวัตติวงศ์ ใช้บรรเลงเป็นเพลงชาติ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๓๑-๒๔๗๕ เพลงชาติไทยฉบับที่สี่ คือ เพลงชาติมหาชัย ใช้เป็นเพลงชาติ ในระหว่างการ เปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โดยอาศัยทำนองเพลงมหาชัย ส่วนคำร้องนั้น ประพันธ์โดย เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) เพื่อใช้ขับร้อง และบรรเลงปลุกเร้าใจประชาชน ก่อให้เกิดความรักชาติและสร้างความสามัคคี ในระหว่าง ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เพลงชาติไทยฉบับที่ห้า คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ผู้ประพันธ์ทำนอง
มีคำร้องประพันธ์โดยขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๗ เพลงชาติฉบับที่หก คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เพิ่มคำร้องของนายฉัน ขำวิไล เข้าต่อจากคำร้องของขุนวิจิตรมาตรา ใช้เป็นเพลงชาติระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๔๘๒ เป็นเพลงชาติที่เป็นฉบับของทาง "ราชการ" ฉบับแรก
เพลงชาติฉบับปัจจุบัน คือ เพลงชาติฉบับพระเจนดุริยางค์ ที่เปลี่ยนคำร้องประพันธ์โดย พันเอกหลวงสารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ใช้เป็นเพลงชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ กระทั่งปัจจุบัน ครั้งนั้นทางรัฐบาลได้ประกาศประกวด เพลงชาติขึ้นใหม่ ในเดือน กันยายน ผลประกวดปรากฏ ผู้ชนะได้แก่ นายพันเอกหลวง สารานุประพันธ์ (นวล ปาจิณพยัคฆ์) ซึ่งส่งในนาม ของ กองทัพบกรัฐบาล ได้ประกาศใช้เพลงชาติไทย ฉบับปัจจุบัน เมื่อ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๒